
ที่สวนสัตว์สงขลา หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้สวนสัตว์สงขลาต้องปิดชั่วคราว แต่ปรากฏว่ากลับได้สิ่งที่มีค่าเกิดขึ้น เนื่องจากสวนสัตว์สงขลาประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกตะกรุมได้เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ที่รับมาจากสวนสัตว์ดุสิต
และทางสวนสัตว์สงขลาเป็นสวนสัตว์แห่งที่ 2 ขององค์การสวนสัตว์ไทย ขณะนี้ลูกนกตะกรุมน้อยอายุ 2 เดือนกว่าแล้ว
ดร.เฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา เปิดเผยว่า ช่วงที่สวนสัตว์ปิดนกตะกรุมที่เลี้ยงไว้ 2 ตัววางไข่ออกมา 2 ฟองจนกระทั่งฟักออกจากไข่ และเมื่อนกอายุ 10 กว่าวัน ก็ได้ทำการแยกลูกนกออกมาจากพ่อแม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกนกพลัดตกจากรัง
ขณะนี้ผ่านมา 2 เดือน ลูกนกตะกรุมน้อย 2 ตัว ซึ่งยังไม่ทราบเพศ กำลังเจริญเติบโต เจ้าหน้าที่เริ่มป้อนอาหารและฝึกให้ลูกนกกินอาหารเองพร้อมการฝึกให้เดินและลงแช่น้ำ หลังจากนี้ก็จะเริ่มให้หัดบิน และเมื่อแข็งแรงดีแล้ว จะปล่อยเข้าสู่ส่วนแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมพร้อมศึกษาพฤติกรรมต่อไป
สำหรับนกตะกรุม” เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ที่ใกล้จะสูญพันธุ์จำเป็นต้องอนุรักษ์เอาไว้ เพราะเป็นตัวแปรที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ นกตะกรุมมีรูปร่างคล้ายคลึงกับนกตะกราม แต่มีขนาดเล็กกว่า และไม่มีถุงใต้คอ
ขณะยืนมีความสูงบนหัวประมาณ 110-120 เซนติเมตร ความกว้างของปีกทั้งสองข้างประมาณ 210 เซนติเมตร ลำตัวด้านบนสีดำเหลือบเป็นมัน ใต้ท้องสีออกขาว มีจุดเด่น คือ ส่วนหัวและลำคอเป็นหนังสีเหลืองแกมแดง มีขนเป็นเส้น ๆ ขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ ทำให้แลดูล้านเลี่ยน
นกตะกรุมเป็นนกที่หากินสัตว์เล็ก ๆ ตามแหล่งน้ำเป็นอาหาร เช่น กุ้ง, หอย, ปู, ปลา มีพฤติกรรมทำรังบนยอดไม้สูง ตามป่าชายเลนหรือป่าริมน้ำร่วมกับนกตะกรามและนกกระทุง วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ในช่วงปลายปี คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม