
วันนี้(30 มี.ค. 63)บรรยากาศที่บริเวณจุดตรวจขุนไวน์ เขตเทศบาลนครยะลา เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตรวจ ได้ปิดกั้นเส้นทางเข้าเมือง ไม่อนุญาตให้รถที่มาจากจังหวัดปัตตานี วิ่งผ่านเข้าเขตเมืองยะลา
หลังจากที่มีประกาศจังหวัดยะลา เรื่องระงับการเดินทางเข้า-ออกจังหวัดยะลา ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบรรยากาศที่จุดตรวจได้มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ทราบข่าวขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์เพื่อผ่านเข้ามายังตัวเมืองยะลา แต่ก็ไม่สามารถผ่านเข้าได้ตามประกาศดังกล่าว
โดย คำสั่งดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ออกเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ 15/2563 เรื่อง ระงับการเดินทางเข้า-ออกจังหวัดยะลาของบุคคล โดยมีข้อความว่า เนื่องด้วยปัจจุบันจังหวัดยะลามีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในหลายอำเภอ และพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไปสู่ประชาชนวงกว้าง การควบคุมพื้นที่ที่มีปัจจัยเสียงต่อการแพร่ระบาดของโรค จังหวัดยะลาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มข้นเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างๆที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบกับมติคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา
เห็นชอบให้ประกาศให้จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งพื้นที่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลามีคำสั่งให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
ประกอบข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 1) ข้อ 1 การห้ามเข้าพื้นที่เสียง ข้อ 10 วรรคลอง และวรรคสามมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ข้อ 11 มาตรการป้องกันโรค ข้อ 13 คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา จึงมีคำสั่ง ดังนี้
1.ห้ามประชาชนเดินทาง เข้า – ออก ข้ามเขตพื้นที่จังหวัดยะลา อันเนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่เสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19 เว้นแต่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัย จากเชื้อโรค การป้องกันโรค การฆ่าเชื้อโรค การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค บริโภค การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล และยานพาหนะของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผู้ได้รับการยกเว้นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
2.ห้ามผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด เดินทาง เข้า-ออกหมู่บ้านหรือที่เอกเทศ สำหรับที่แยกกัน หรือกักกัน และหรือข้ามเขตขึ้นที่จังหวัดยะลา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ.2539 หากผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ มีฐานความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่กิน 2 ปี หรือ ปรับไม่กินสี่หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยยืนยันที่นอนโรงพยาบาล จำนวน 35 คน แยกได้ดังนี้ นอนโรงพยาบาลยะลา 18 คน, โรงพยาบาลบันนังสตา 14 คน และโรงพยาบาลรามัน 3 คน พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย รักษาหาย 3 ราย