
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 27 มี.ค.63 ระบุว่า ขณะนี้ ประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 91 คน ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 1,136 คน
สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 11 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 97 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,034 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นผู้ป่วย ในจ.นราธิวาส ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตในปัจจุบันอยู่ที่ 5 ราย
สำหรับผู้ป่วยที่พบ ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 30 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, สถานบันเทิง 7 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 18 ราย
กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยใหม่ 19 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ แบ่งเป็นคนไทย 9 ราย, ชาวต่างชาติ 1 ราย, บุคคลที่ทำงานในที่แออัด/ใกล้ชิดชาวต่างชาติ 5 ราย และ อื่น ๆ อีก 4 ราย
กลุ่มที่ 3 คือผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 42 ราย
นพ.อนุพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทย พบผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว ใน พื้นที่ 52 จังหวัด คิดเป็นคนไทยร้อยละ 88 และ ต่างชาติ ร้อยละ 12 ซึ่งหากทุกคน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ก็เชื่อว่าในอนาคตจำนวนผู้ป่วยใหม่จะลดลง
ซึ่งล่าสุด พบเริ่มมีการบังคับใช้มาตรการในการยกระดับอย่างเข้มข้น ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบด้วยกรุงเทพฯและปริมณฑล, ชลบุรี, พัทยา, ระยอง และหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่มีการปิดพื้นที่ พร้อมควบคุมการจัดการภายใน ประกอบด้วย สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา และ ภูเก็ต ที่มีมาตรการเข้าออกเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตนเอง
สำหรับกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงติดเชื้อ ที่มีการบังคับใช้มาตรการเข้าออกเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตนเอง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม
คือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป, บุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (หอบหืด) ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต และเด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี