
วันที่ 30 มกราคม 2563 เกษตรกรโคราชหลายรายในจังหวัดนครราชสีมาประสบปัญหาภัยแล้งไม่สามารถทำนาปลูกข้าวได้ จึงหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยสู้ภัยแล้งเพื่อหารายได้เข้าครัวเรือน โดยนาย ปิน เทียบกลาง อายุ 56 ปี เกษตรกรในตำบลมะค่า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ได้ใช้พื้นที่ทำนาหันมาปลูกต้นแคนา จำนวน 120 ต้น บนพื้นที่ 1 ไร่
ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปลูกแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น ก็สามารถเก็บผลผลิตดอกแคได้ จำหน่ายในราคาถุงละ 10 บาท ทำให้แต่ละวันเก็บดอกแคขายส่งให้ตลาด มีรายได้วันละ 500-800 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งนับเป็นรายได้ที่ดีกว่าการทำนาปลูกข้าว
เนื่องจากต้นแค เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ตระกูลถั่ว สูง 2-10 เมตร ปลูกโตเร็ว ทั้งยอดอ่อน และดอกแค มีเสน่ห์น่าลองลิ้มมาก โดยยอดแคทนต่อความแห้งแล้ง มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าดอก แต่คนนิยมนำดอกมาเป็นอาหารมากกว่ายอด
อีกทั้งยังมีความสวยงาม สีสันที่อ่อนหวาน ยอดอ่อนอวบอ้วนน่ากิน ดอกออกเป็นช่อ มี 2-8 ดอก ส่วนฝักแคคล้ายถั่วฝักยาว ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ซึ่งแคเป็นพืชที่มีสารอาหารสรรพคุณดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้หัวลมได้ดี มีประโยชน์มากมาย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตแล้งนี้ได้เป็นอย่างดี