
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทซอย10 เมื่อปี 2546 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งหมด ทว่าศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
ต่อนายชูวิทย์ ที่สุดแล้ว ศาลฎีกาพิพากษาในเดือนมกราคม 2559 ตัดสินลงโทษจำคุกนายชูวิทย์ และพวก 2 ปี ลดจาก 5 ปี ศาลฎีกาพิพากษาแก้โดยเห็นว่าหลังเกิดเหตุ นายชูวิทย์ กับพวก ได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหาย จนผู้เสียหายบางส่วน
นอกจากนี้ ยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปรานี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
สำหรับที่ดิน ซึ่งนำไปยื่นศาล ใช้ลดโทษนั้น ถูกนำไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ เรียกว่า "สวนชูวิทย์" เป็นไปตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อศาล ที่จะยกที่เป็นสาธารณะประโยชน์
กระทั่งล่าสุด สวนดังกล่าวไม่มีแล้ว เมื่อพื้นที่ตรงนั้น กำลังถูกพลิกโฉมเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ที่ความสูง51ชั้น ไม่รวมชั้นใต้ดิน ภายใต้ชื่อ “เทนธ์ อเวนิว” ประเมินว่าจะสร้างมูลค่าให้กับที่ดินผืนนี้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
การก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 4ปีนับจากปี2565 พัฒนาและบริหารการขายในนาม “ DAVIS CORPORATION “ และบริษัทเอเทนธ์ อเวนิว จำกัด ของตระกูล กมลวิศิษฎ์เจ้าของที่ดิน
ปัญหาที่มีการถกเถียงคือ การใช้ที่ดินดังกล่าว จากการเป็นสวนสาธารณะ แล้วนำมาหาประโยชน์ อาจจะเป็นการละเมิดกฎหมาย เพราะเพียงการให้ที่ดินเป็นสาธารณะ ก็เท่ากับเป็นการยกที่ดินให้รัฐแล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2538 (ฉบับย่อย) ระบุว่า
การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นสาธารณะ เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 ไม่ต้องจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
นี่ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว หากมีการนำเรื่องนี้ไปร้องศาล จะทำให้ โครงการ“เทนธ์ อเวนิว” เกิดความไม่แน่นอนในการดำเนินโครงการต่อ และได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลแน่นอน