
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เป็นประธานเปิดงาน “รวมพลังขับเคลื่อนงานส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่พังงาสู่ครัวอันดามัน และติดตามการดำเนินงานโครงการ “ปลูกผักและพืชสมุนไพรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” พร้อมมอบหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จำนวน 20 ราย 26 แปลง เนื้อที่ประมาณ 162-1-15 ไร่
โดยมี ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการ ส.ป.ก., หัวหนัาผู้ตรวจราชการกรม, ปฏิรูปที่ดินจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมคณะในครั้งนี้ ณ ศาลาเอนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา
สำหรับ ส.ป.ก.พังงา เริ่มดำเนินการปฏิรูปที่ดินครั้งแรกในท้องที่ อ.ตะกั่วทุ่ง ในพื้นที่โครงการที่จำแนกป่าควนหน้าบ้าน-ควนช้างตาย จำนวนเนื้อที่รับมอบประมาณ 41,544 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินครอบคลุม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ทับปุด อ.ตะกั่วทุ่ง อ.ท้ายเหมือง อ.กะปง อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี และ อ.เกาะยาว เนื้อที่ประมาณ 123,195 ไร่ ดำเนินการจัดที่ดินแล้วเสร็จ รวม 8 อำเภอ จำนวน 9,311 ราย 11,905 แปลง เนื้อที่ประมาณ 121,333 ไร่
ทั้งนี้ ส.ป.ก.พังงา ได้จัดการสานต่อ ให้มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และจุดถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินและบุคคลที่สนใจ
ซึ่งรวมทั้งสิ้น 7 โครงการ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชน มีความรัก หวงแหน ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น, กลุ่มแปลงใหญ่มังคุดตำบล มุ่งเน้นให้สมาชิก ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกัน , กลุ่มวิสาหกิจทำขนมและแปรรูปสมุนไพร เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดมูลค่า เพื่อสร้างรายได้, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
มีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกพืช โดยใช้ระบบน้ำหยดและสร้างมาตรฐานการผลิต แบบเกษตรอินทรีย์, เกษตรของแผ่นดินระดับสาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ, เกษตรกรต้นแบบ
ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการดำเนินงานรูปแบบการแปรรูปเพิ่มมูลค่ารวมทั้งการปลูกพืชแบบผสมผสาน และการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน , กระบวนการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม