
วันที่ 27 ธ.ค. 63 นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทาง สสจ.เชียงใหม่ ได้รับรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยจาก จ.ระยอง ได้เดินทางมาใน จ.เชียงใหม่ และตรวจพบเชื้อ เป็นหญิงไทย อายุ 46 ปี ภูมิลำเนาอำเภอเมือง จังหวัดระยอง
เดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 ธ.ค. 2563 มีอาการระคายคอ คอแห้ง อุณหภูมิ 37.4 องศา ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก การได้กลิ่นและรับรสปกติ ประกอบกับได้รับข่าวจากผู้ที่เคยใกล้ชิดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้เดินทางเข้าไปตรวจที่รพ.เอกชน ในจังหวัดเชียงใหม่
พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง และสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่จังหวัดระยอง ผลตรวจยืนยันพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (วันที่ 27 ธ.ค. 2563) ขณะนี้รับรักษาตัวที่ห้องแยกความดันลบ โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 47 ของจังหวัดเชียงใหม่ แต่เป็นเพียงการนำเชื้อเข้ามาจากภายนอกจังหวัด ยังไม่พบการระบาดในจังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด
ทางทีมสอบสวนโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่สอบสวนโรค พบไทม์ไลน์ของผู้ป่วย ดังนี้
วันที่ 24 ธ.ค. 2563
- ได้เข้าใช้บริการในสถานที่ออกกำลังกายแห่งหนึ่ง ในจังหวัดระยอง และได้พูดคุยกับเทรนเนอร์ ซึ่งต่อมาเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดระยอง
วันที่ 26 ธ.ค. 2563
- เวลา 09.35 – 11.00 น. เดินทางจากอู่ตะเภา มาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสายการบิน Thai Airasia (FD101 ที่นั่ง 22C) พร้อมสามี ลูก 2 คน และพี่เลี้ยง 1 คน มารดาไปรับจากสนามบิน แวะเยี่ยมครอบครัวน้องสาวก่อนเข้าไปที่บ้านพักส่วนตัวย่านสถานีรถไฟ
- เวลา 17.00 น. เข้าไปตรวจที่ รพ.เอกชน เนื่องจากทราบประวัติว่าเทรนเนอร์ตรวจพบเชื้อ ก่อนจะรับเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน เพื่อรอฟังผล
วันที่ 27 ธ.ค. 2563
- เวลา 12.00 น. ผลตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- เวลา 14.00 น. ส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์
ผลการติดตามผู้สัมผัส ทั้งหมด จำนวน 127 ราย ได้แก่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 30 ราย(ผู้สัมผัสในครอบครัว 4 ราย , ผู้สัมผัสในยานพาหนะ 26 ราย) ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จำนวน 97 ราย (ผู้สัมผัสในยานพาหนะ 86 ราย , บุคลากรทางการแพทย์ 11 ราย)
ซึ่งได้ติดตามตัวและนัดเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 (4-5 วันหลังที่สัมผัส) และได้กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง จนครบ 14 วัน
ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีวางมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค โดยให้มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจของชาวเชียงใหม่ให้น้อยที่สุด เป้าหมายในการควบคุมโรค จึงไม่ใช่การปิดกั้นผู้เดินทางมาใน จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ตัวเลขผู้ป่วยเป็นศูนย์
หากเป็นการตรวจพบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่เข้ามาในจังหวัดอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ได้เกิดการระบาดในวงกว้าง การตรวจพบผู้ป่วยรายนี้ แสดงให้เห็นถึงมาตรการเฝ้าระวังที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้วางไว้ ด้วยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อสามารถเข้ารับการดูแลได้อย่างเหมาะสมทันเวลา
นายแพทย์กิตติพันธุ์ ย้ำว่า ผู้เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางมาทางเข้ามาได้ โดยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางจังหวัดได้วางไว้ เป็น 3 กลุ่ม คือ
- ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด โดยปกติต้องกักตัวอยู่แล้ว แต่หากมาทราบภายหลัง ก็สามารถเข้าตรวจได้ในทุกสถานพยาบาล
- ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ จ.ที่มีการระบาด แต่ไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาด ท่านสามารถรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้โดยสมัครใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ ให้ท่านปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจังหวัดได้กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CM-Chana เมื่อท่านเดินทางเข้าจังหวัด ปิดหน้ากาก 100% เช็คอินไทยชนะตามจุดต่างๆ