
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จังหวัดยโสธรมีชาวนาได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้ยึดวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยพาทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ในครอบครัวอีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและเรียนรู้วิถีชาวนาให้คงอยู่กับชาวนาตลอดไป
นายทวี มุ่งงาม และนางพิมพา มุ่งงาม อายุ 55 ปี สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ 7 บ้านดวน ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร เป็นครอบครัวชาวนาที่ได้พากันยึดหลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มีการทำการเกษตรแบบผสมผสานทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และยังได้พากันยึดวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยพาปฏิบัติและสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีการใช้เครื่องจักรแต่อย่างใดเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
ซึ่งขณะนี้นาข้าวที่ได้พากันปักดำเอาไว้ได้แก่เต็มที่พร้อมที่จะทำการเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมือเกี่ยวข้าวในนาข้าวในแต่ละปีจะต้องมีการทำพิธีตามความเชื่อและเป็นประเพณีปฏิบัติที่ได้ยึดถือมา
คือ การขอขมาและบอกกล่าวพระแม่โพสพและพระแม่ธรณี ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่และผู้คอยดูแลและปกปักรักษาต้นข้าวให้เจริญเติบโตและงอกงาม นางพิมพา มุ่งงาม พร้อมสามี จึงได้มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ทั้ง ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน อย่างละ 4 ชุด ข้าวขาว ข้าวดำ หมาก 4 คำ และบุหรี่ 4 ม้วน
ก่อนจะนำไปทำพิธีบอกกล่าวบริเวณคันนาตามประเพณีปฏิบัติหลังเสร็จพิธี จึงจะสามารถลงมือเก็บเกี่ยวข้าวในนาได้ซึ่งการเก็บเกี่ยวก็จะใช้เคียวเกี่ยวเองสองสามีภรรยาและบางครั้งก็อาจจะมีญาติพี่น้องไปช่วยเกี่ยวด้วย
เกี่ยวเสร็จแต่ละวันตกเย็นก็จะมีการมัดฟ่อนข้าวด้วยตอกไม้ไผ่ก่อนจะขนย้ายมัดข้าวที่เกี่ยวเสร็จขึ้นไปรวมกันไว้ที่บริเวณลานรวมข้าวโดยใช้หลาวซึ่งทำจากไม้ไผ่ที่มีปลายแหลมทั้ง 2 ด้าน ในการหาบหรือขนย้ายมัดข้าวขึ้นไปรวมกองไว้บริเวณลานรวมข้าว ส่วนลานรวมข้าวจะทำจากขี้วัวขี้ควาย
โดยมีการเลือกพื้นที่นาที่โล่งและแห้งเพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นบริเวณกว้างพอประมาณที่จะเก็บข้าวในนาได้ทั้งหมดจากนั้นจะนำขี้วัวขี้ควายสดใหม่ไปเทผสมคลุกเคล้ากับน้ำก่อนจะเหยียบย่ำให้เข้ากัน
เสร็จแล้วจึงนำไม้กวาดที่ทำจากต้นขัดมอนที่หาได้ในพื้นที่ไปกวาดให้เรียบเพื่อให้ขี้วัวขี้ควายกระจายไปทั่วบริเวณจนหนาพอสมควรและปล่อยทิ้งตากแดดให้แห้งสนิทก็จะได้ลานตากข้าวและลานรวมข้าวที่เรียบและแข็งไม่ต่างจากพื้นซีเมนต์ในปัจจุบัน
จนสุดท้ายก็จะเป็นการตีข้าวแบบโบราณดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติจนได้เมล็ดข้าวในที่สุด ซึ่งเป็นวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่ครอบครัวมุ่งงามได้ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
นางพิมพา มุ่งงาม บอกว่า ตนมีที่ดินทั้งหมด 4 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลาและทำนาข้าวประมาณ 2 ไร่เศษ โดยเน้นทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและได้ยึดวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน
เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และก่อนจะลงมือทำนาของทุกปีจะต้องมีการบอกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างตามความเชื่อและในขณะนี้ก็เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งก่อนจะทำการเก็บเกี่ยวจึงต้องมีการขอขมาและบอกกล่าวพระแม่โพสพและพระแม่ธรณี
ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่นาและผู้คอยดูแลและปกปักรักษาต้นข้าวให้เจริญงอกงาม โดยได้จัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆไปบอกกล่าวตามวิถีปฏิบัติที่เคยสืบทอดมาซึ่งหลังได้ทำตามประเพณีแล้วก็จะสบายใจผลผลิตข้าวก็จะได้จำนวนมากตามไปด้วย
จากนั้นจึงจะลงมือเก็บเกี่ยวข้าวได้ซึ่งการเกี่ยวข้าวตนก็จะทำตามวิถีชาวนาแบบดั้งเดิมทั้งหมดโดยไม่มีการใช้เครื่องจักรใดๆและตนก็จะพากันทำตามวิถีชาวนาแบบดั้งเดิมแบบนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษและจะสืบทอดต่อไปเรื่อยๆจนไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปเพื่อเป็นการอนุรักษ์วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมเอาไว้ไม่ให้เลือนหายไปจากชาวนา
ซึ่งที่นาของตนยังเปิดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการทำนาแบบดั้งเดิมโดนเน้นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งใครที่สนใจหรือกลุ่มนักเรียน เยาวชนที่สนใจก็สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้
ทั้งการทำนา ทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงโค-กระบือ และปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อใช้กินเองในครอบครัวและที่เหลือก็จะจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย