
การประชุมคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา วันพุธที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สว.) อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ได้มีการพิจารณารวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชน โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายด้านวิชาชีพสื่อมาให้ข้อมูล ทั้งนี้มีการหยิบยกประเด็น การนำเสนอข่าวคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ มาเป็นกรณีศึกษา
ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ถือเป็นการรับฟังสภาพปัญหา และเก็บข้อมูล กรณีการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ที่มีทั้งผู้บริหารจากวิชาชีพ และนักวิชาการ เพื่อที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาด้านวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งคุณธรรม จริยธรรม ที่จะนำไปสู่พิจารณาแก้ไขปัญหาหรือสร้างมาตรฐานด้านวิชาชีพ โดยเฉพาะด้านกฎหมายจริยธรรม
“อมรินทร์ทีวี” ย้ำทำตามจรรยาบรรณวิชาชีพ
นายนภจรส ใจเกษม บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ชี้แจงถึงเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กรณีนำเสนอข่าวน้องชมพู่ ว่าช่วงแรกๆที่ลงพื้นที่ เราไม่คิดว่าข่าวนี้จะปั้นให้ใครดัง แค่อยากค้นหาความจริงให้รอบด้านที่สุด
“ ประเด็นเสียงวิจารณ์ ว่าการนำเสนอข่าวของเราทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชนนั้น จริงๆ แล้วชาวบ้านกกกอกต้องการให้เราเกาะติดคดีนี้มากกว่า เพราะไม่อยากให้ข่าวเงียบ ส่วนที่พูดถึงเรื่องจรรยาบรรณเราให้ความสำคัญ เช่น เมื่อบางคนที่ให้สัมภาษณ์แล้วกลับรู้สึกไม่สบายใจเราก็ไม่ออกอากาศ หรือบางคนก็ปิดบังหน้าตาให้”
“ไทยรัฐ”ปรับทัพดึงฝ่ายเซนเซอร์ช่วยเชคข่าวก่อนออนแอร์
นายกฤษณ์ชนุตณ์ เจียรรัตนกนก รองผู้อำนวยการสายสนับสนุน ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า กรณีคดีน้องชมพู่ เราลงพื้นที่เพื่อตามหา เราพยายามค้นหาความจริงให้ปรากฏ ดังนั้นถามว่าเราได้มีการละเมิดตามวิจารณ์หรือไม่ ยอมรับว่าบางครั้งคาดไม่ถึง แต่เราก็ปรับตัวตลอด ไทยรัฐทีวีเองมีฝ่ายเซนเซอร์ เราให้ทีมนี้เข้ามามีบทบาทในการทำงานกองบรรณาธิการมากขึ้น เรามีกระบวนการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ซึ่งไทยรัฐทีวีน่าจะเป็นช่องแรกที่ให้ ฝ่ายเซนเซอร์เข้าไปอยู่ในกระบวนการนำเสนอข่าว
“อิสระ” แต่ต้องเป็นธรรมและไม่ล้ำเส้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวถึงหลักการทำงานของสื่อ ควรยึดหลักในการทำหน้าที่ 5 ข้อ คือ หนึ่ง-การทำความจริงให้ปรากฏ สอง-สื่อจะมีมาตรการอย่างไรในการปกป้องความอิสระ แต่ไม่ให้ล้ำเส้น สาม-ความเป็นจริงเสนอไปแล้วเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ สี่-ความยินยอม ไม่ได้แปลว่าสามารถทำได้ ต้องพิจารณาหากยอมแต่ไม่เกิดผลดี สังคมเสียหายไปแล้วใครรับผิดชอบ ห้า-ความรับผิดชอบ สื่อที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ จะรับผิดชอบอะไรบ้าง เมื่อมีปัญหารับผิดหรือไม่ การที่ระบุว่าไม่คาดคิด เคยมีการขอโทษ หรือแก้ไขหรือไม่ “ผมไม่สงสัยในเรื่องจริยธรรม แต่การทำข่าวมันไม่ควรมองข้ามผลสืบเนื่องการนำเสนอ เช่น การเลียนแบบ ที่อาจจะมีการโปรโมทผู้ต้องสงสัยอีกในอนาคตหรือไม่ มันจะเป็นค่านิยมที่บิดเบี้ยว เรื่องนี้ประโยชน์ที่เกิดต่อสังคมและสาธารณะไม่ได้ไรเลย”
ชี้จัดสรรงบสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์
นาย วสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กรณีคดีน้องชมพู่ พบว่ามีสื่อบางสื่อที่เลือกไม่เล่นข่าวนี้เลย หรือไม่เล่นเยอะแค่นำเสนอปรากฏการณ์แล้วก็จบไป เพราะคดียังไม่คืบ กรณีที่เป็นที่วิจารณ์มองว่าเป็นการเล่นข่าวตามกระแสและต้องการเรทติ้งหวังโฆษณา ตนอยากเสนอว่าอาจต้องมีกระบวนการที่ไม่ได้วัดเรื่องเรทติ้งอย่างเดียว ควรจะ Base on Quality เพื่อประโยชน์ที่สังคมควรจจะได้รับ และบอกคนสนับสนุนให้มองเห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ และเพื่อให้กำลังใจสื่อที่ทำงานสร้างสรรมีความแข็งแรงต่อไป