
เกษตรกรที่ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าเครื่องแต่งกายมุสลิม” ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล สาธิตการทำผ้ามัดย้อมจาก “จำปาดะ” ผลไม้พื้นถิ่นจังหวัดสตูลที่ขึ้นชื่อ และมีการประกาศให้เมื่อปี 2562 ให้เป็นผลไม้อัตลักษณ์ พืช GI ของจังหวัดสตูลโดดเด่นในความอร่อย รสชาติหวานกลมกล่อม
โดยเฉพาะสายพันธุ์ขวัญสตูล โดยการเพิ่มมูลค่าให้ไม้ผลพื้นเมืองในครั้งนี้ นอกจากการทานผลสด และนำไปแปรรูปเป็นขนม ข้าวเกรียบ เค้กและอีกหลายเมนูแล้วจำปาดะยังนำสกัดสีทำผ้ามัดย้อมได้อีกด้วย
กระบวนการคือ นำเอาแกนกลางเนื้อเยื่อไม้ และ ใบของจำปาดะ มาแช่น้ำไว้ 1 คืนแล้วก็นำไปต้ม ด้วยอัตราน้ำ 10 ลิตรต่อเนื้อไม้จำปาดะถูกทำเป็นขี้เลื่อย 1 กระสอบ ต้มนาน 3 ชั่วโมง หรือจากน้ำ 10 ลิตรให้คงเหลือน้ำ 3 ลิตร แล้วนำน้ำส่วนนั้นมาใช้ในการมัดย้อม โดยเราจะต้มน้ำสีที่เราสกัดมาเรียบร้อยแล้ว จนน้ำเดือดประมาณ 70 องศา แล้วใช้ผ้าที่เรามัดไว้ลงไปย้อม ใช้เวลาในการต้มตรงนั้นประมาณ 30 นาที
เนื้อผ้าจากสีแกนกลางเนื้อเหยื่อไม้จำปาดะ จะได้สีเหลืองนวล ส่วนเนื้อผ้าจะใบไม้จำปาดะจะได้สีเขียวขี้ม้า สร้างความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากนั้นก็นำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามที่ตลาดต้องการได้เลย
นอกจากนี้ต้นจำปาดะที่แก่ตัวมาก ๆ ไม่สามารถให้ผลผลิตได้แล้ว จะมีการนำไม้มาทำบันไดบ้าน และเสา สวยงาม ซึ่งถือว่ามีการใช้คุ้มค่าและใช้ทุกส่วนของจำปาดะให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางรอเบียะ หมันเส็น (ผ้าคลุมหัวสี ชมพู) ประธาน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าเครื่องแต่งกายมุสลิม การทำผ้ามัดย้อมจำปาดะ บอกว่า หลักๆกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดาหลาปาเต๊ะเราก็ใช้สีจำปาดะ เป็นตัวหลักอยู่แล้วเพราะเราพยายามดึงเอกลักษณ์ ของอำเภอควนโดนและต้องการให้เป็นอัตลักษณ์ของที่นี่เพราะที่นี่เป็นกลุ่มที่อยู่ ในตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน และเป็นพืชที่หาง่ายในท้องถิ่นของเรา เป็นที่รู้จัก
สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าเครื่องแต่งกายมุสลิม ได้มีการรวมกลุ่มขณะนี้มีสมาชิก 50 คน เป็นคนในพื้นที่ โดยสมาชิกจะมีทำงาน 21 คนต่อวัน ตามหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ ส่วนใหญ่จะมีการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำได้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเย็บผ้า การย้อมสี ทำให้สมาชิกมีรายได้คนละ 7,000 – 20,000 บาทต่อเดือน
โดยทางกลุ่มจะตัดเย็บกระเป๋าชุดสวมใส่สตรี และที่มีตั้งแต่กระเป๋าสะพาย กระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าสตางค์ หมวก ผ้าคาดผม ของที่ระลึก ผลิตส่งขายเป็นชุด ให้กับลูกค้าในพื้นที่จังหวัดสตูล จังหวัดใกล้เคียงแล้ว ทางกลุ่มฯยังผลิตส่งออกไปยังประเทศอาหรับเอมิเรต อีกด้วย ทำให้ทางกลุ่มมีรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน
นางสาวสุดาวรรณ สมัตถนาค (ผ้าคลุมหัวสีดำ) นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภอควนโดน กล่าว่า ทางกลุ่มมีการบริหารจัดการโดย เอาคนในพื้นที่มาเป็นสมาชิก โดยทั่วไปสมาชิกจะอยู่รอบๆกลุ่มนี้ ทุกคนก็จะได้รับการฝึกฝีมือ จากประธานกลุ่มซึ่งมีความชำนาญ ในเรื่องผ้าอยู่แล้วก็จะให้ความรู้ รับสมาชิกในการตัดเย็บ
เมื่อเป็นที่รู้จักก็จะมี Order เข้ามา ให้กลุ่มทำการตัดเย็บเกี่ยวกับ งานต่าง ๆ เช่นกระเป๋า แมสไปช่วง covid ที่ผ่านมา มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ และสามารถกระจายให้งานให้กับสมาชิกได้ เป็นประจำสม่ำเสมอ
ในส่วนสำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน ได้เข้ามาให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่ม จัดทำแผนการผลิตและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ต่อยอดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างเครือข่ายกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอควนโดน และการเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ทั้งในส่วนของLine Facebook Webpage
สำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน และหลายหน่วยงานเข้ามาบูรณการในการส่งเสริมความรู้ ด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ พืชท้องถิ่นอย่างจำปาดะ โดยเฉพาะการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการใช้พืชท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นคุณค่าของผลไม้พื้นถิ่นนี้ให้มีการอนุรักษ์ให้คู่เมืองสตูล ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด