
วันที่ 31 ส.ค. 63 ที่มัสยิด เราฎอตุ้ลญันนะห์ ชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล เด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านหัวทาง ต่างช่วยกันจดสูตรและช่วยกันกวนขนมอาซูรอ ซึ่งเป็นขนมโบราณและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยผู้หญิงจะจดสูตรการทำขนม ทั้งของหวานและคาว
ส่วนผู้ชายจะช่วยกันกวนขนมในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ขนมอาซูรอถือเป็นขนมแห่งความสามัคคี เพราะต้องใช้คนในชุมชนช่วยกันกวน ใช้เวลากวนขนมให้เป็นเนื้อเดียวกันไม่ต่ำกว่า5 ชั่วโมง ขนมอาซูรอหรือขนมบูโบร์ซูรอ เป็นขนมที่ชาวไทยมุสลิมทำขึ้นในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปฏิทินอาหรับ
เป็นขนมที่ได้จากการนำอาหารหลายอย่างมารวมกันแล้วกวนให้เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายขนมเปียกปูน ประเพณีการกวนขนมอาซูรอเริ่มจากมัสยิดประกาศเชิญชวนว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงเวลาชาวบ้านจะนำวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาร ข้าวเหนียว น้ำตาล กล้วย ธัญพืชต่างๆเช่น ถั่ว ฟักทอง มัน ข้าวโพด กะทิ ฯลฯ มารวมกันและช่วยกันกวน เมื่อเสร็จแล้วจะกล่าวขอพรพระเจ้าแล้วจึงแบ่งขนมไปกินกัน
ประวัติของขนมชนิดนี้ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยนบี นุฮ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินไร่นา ชาวบ้านอดอาหาร นบีนุฮ จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามารวมกันและมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานอาหาร อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับแปลว่าการผสมหรือการรวมกัน
นายการีม เก็บกาเม็น ครูร.ร.ตาดีกา มัสยิดเราฎอตุ้ลญันนะห์ กล่าวว่า ก่อนให้เด็กได้ดูของจริง ได้ให้ความรู้ทางทฤษฎี จะเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ให้ได้รับรู้ จากนั้นก็ให้เด็กมาถามสูตรทั้งของหวานและคาว เพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมและทราบถึงประวัติศาตร์รวมทั้งมีคุณค่าทางอาหาร เพื่อให้เด็กได้สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมของชาวมุสลิมด้วยอีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนและสังคม
สำหรับชาวมุสลิมถือเป็นขนมพิเศษ ที่มีให้กินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หลังจากร่วมกันกวนเสร็จแล้วก็จะแบ่งขนมอาซูรอแจกจ่ายให้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นได้รับประทานต่อไป