
วันที่15 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน โดยมีนายสมนึก ดวงประทีป ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง จัดกิจกรรมรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานทักษะดั้งเดิม และยอมรับเทคโนโลยีใหม่
โดยมีกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผักหวาน จากจังหวัดสระบุรี นำโดยเจ้าหน้าที่เกษตรและสหกรณ์ จ.สระบุรี และ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จ.สระบุรี นายสำรี ชาคำมูล ร่วมด้วยกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผักหวาน มาศึกษาดูงานที่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ต.ชัยฤทธิ์ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายเกษตร
โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรรู้จักการทำบัญชีครัวเรือน การทำสารชีวภาพเพื่อกำจัดแมลงและสารบำรุงพืช และการสาธิตการทำเครื่องพ่นยุงจากวัสดุอุปกรณ์ในชุมชน
แนวคิดในการทำเครื่องพ่นยุงจากกระป๋องสี เริ่มมาจากในช่วงโควิดได้ออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วง พรก.ฉุกเฉิน ได้ยินผู้นำชุมชนคุยกันถึงเรื่องการระบาดของไข้เลือดออก จึงมีแนวคิดที่จะลดต้นทุนในการทำเครื่องพ่นยุง จากราคาหลักหมื่น ให้ลดลงเพื่อให้ใช้งบประมาณน้อยที่สุด
จึงหาข้อมูลต่าง ๆ จากโซเชียล แล้วนำมาประยุกต์และปรับใช้ โดยใช้วัสดุรอบตัวเรา หรือสิ่งของเหลือใช้ จึงเกิดเป็นเครื่องพ่นยุงกระป๋องสี ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไม่เกิน 200 บาท และการใช้งานในแต่ละครั้ง สามารถพ่นยุงได้มากถึง 5 หลังคาเรือน ถึงจะเป็นเครื่องพ่นยุงที่ทำง่ายๆจากวัสดุในท้องถิ่นแต่ยังสามารถใช้งานได้จริงและได้ผลเกินคาด