
วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน บ้านเมืองปราสาท ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ต่างดีใจหลังจากในพื้นที่ ได้มีฝนตกลงมาตามฤดูกาล ได้ส่งผลดีกับพื้นที่ทางการเกษตรนับพันไร่ หลังชาวบ้านในพื้นที่ ได้ทำพิธีขอฝนจากศาลปู่ตาเจ้าบ้านที่ตั้งอยู่ภายในกู่บ้านปราสาท
ซึ่งกู่ปราสาท หรือคูปราสาท มีอายุเก่ากว่าหลังอื่นที่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอโนนสูง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 บ้านโนนเมือง ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่า กู่บ้านปราสาทแห่งนี้ เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ราวพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ประกอบไปด้วยปราสาท 3 หลัง
ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีวิหาร หรือบรรณาลัย อยู่ด้านหน้าปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก่อด้วยหินศิลาแลง มีอาคารแผนผังรูปกากบาท อยู่ด้านหน้าปราสาททางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาคารอิฐผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีบันไดทางขึ้น แนวทางเดินหรือวิหารโถง เป็นอาคารโปร่งพื้นปูด้วยอิฐมีกำแพงแก้วล้อมรอบ
มีคูน้ำหลังเหลืออยู่ทางด้านทิศใต้ มีโคปุระหรือทางเข้าทางเดียวทางทิศตะวันออกสมัยที่สองศิลปะแบบนครวัดสมัยที่สาม ศิลปะแบบบายน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ศาสนสถานแห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานในคติพุทธศาสนานิกายมหายาน อายุสมัย
เมื่อพิจารณาจากแผนผังของอาคารแล้วสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในสมัยขอมศิลปะแบบเกาะแกร์ กลางพุทธศตวรรษที่ 15 ใช้เป็นเทวสถานประจำชุมชน(ศรุก) ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู
นายสมเจท จงรับกลาง อายุ 59 ปี ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่า กู่บ้านปราสาท และปลัดขิกที่อยู่บน ศาลปู่ตาเจ้าบ้านเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ จะมีการทำพิธีบวงสรวงเส้นไหว้ศาลปู่ตาเจ้าบ้านเป็นประจำทุกๆ ปี
โดยในปีนี้ได้มีการเซ่นไหว้ศาลปู่ตาเพื่อขอฝน เพราะเชื่อว่าปลัดขิกที่อยู่บนศาลปู่ตา จะทำให้เกิดฝนตก หลังจากนั้นได้มีฝนตกลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ทางการเกษตร ของเกษตรกรในพื้นที่ จึงทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ปู่ตาเจ้าบ้าน ปลัดขิก ช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงได้นำปลักขิกมาไว้บนศาลปู่ตา เป็นจำนวนมาก ตามความเชื่อของคนในสมัยโบราณ