
วันที่ 30 มิถุนายน 63 การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 12 เป็นพิเศษ ที่รัฐสภา(เกียกกาย) ในการพิจารณาเรื่องด่วน รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2562
เวลาประมาณ 14.OO น. เป็นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาด้านสื่อสารมวลชน โดย ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
ได้ชี้ให้เห็นถึงผลการติดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องมีการปฏิรูป เนื่องจากเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมาย ในเรื่องการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเก็บรวบรวมข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ก็จะสร้างความเสียหายต่อบุคคลและความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
“ที่ผ่านมามีการตรา พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ แต่ 1 ปีที่ผ่านมา กลับยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่วิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารได้เพิ่มขีดความสามารถได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งแม้แต่คนธรรมดาก็สามารถใช้ Deep fake Application ในการปลอมเสียง หรือการใช้ Face swap ด้วยการเปลี่ยนบุคคลได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
นอกจากนี้ 1 ปีผ่านไป เพิ่งมีประกาศแก้ไข ให้บังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เฉพาะหมวด ๔ เพื่อตั้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ผลการติดตามแผนปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อ ตามที่คณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค
ได้เชิญหน่วยงานที่ได้ทุนในงบประมาณปี 2562 จาก กสทช. และจากองค์กรสื่อที่เป็นองค์กรของรัฐฯ มาร่วมให้ข้อมูล พบว่า มีหลายหน่วยงานที่ได้ดำเนินงานสอดคล้องแผนการปฏิรูปไปบ้างแล้ว เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ให้ทุนองค์กรและบุคคลจัดกิจกรรมเพื่อเข้าถึงผู้ไม่มีโอกาสรับสื่อ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
Thai PBS จัดโครงการเข้าถึงชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงการสื่อสารให้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายกลุ่มผู้ชมไปสู่ชาวต่างชาติมากขึ้น และยังทำให้เข้าใจประเทศไทยในบริบทต่างๆ มากขึ้น
โทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เน้นการเสนอข่าวที่ถูกต้องในเชิงบวกให้เกิดความน่าเชื่อถือมากกว่าการนำเสนอข่าว เพื่อเรตติ้ง
ทีวีรัฐสภา ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า บรรดา สส. และ สว. ต่างก็เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถืออยู่แล้ว การที่บุคคลเหลานี้จะช่วยประชาสัมพันธ์ในเรื่อง “การรู้เท่าทันสื่อ” จะได้ผลมากกว่าการนำบุคคลมีชื่อเสียง ดาราหรือนักกีฬา ตามที่แผนปฏิรูปเคยกำหนดไว้เหมือนที่ผ่านๆ มา
ขณะเดียวกันในช่วงท้ายของการอภิปราย ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา ยังได้เน้นย้ำว่า “ใน พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล มีข้อหนึ่งที่พูดถึง สื่อแท้และสื่อเทียม การที่จะแยกแยะได้จะต้องมี พรบ.จริยธรรม ซึ่งขณะนี้เสร็จแล้ว
แต่ขณะอยู่ที่กฤษฎีกา ยังไม่ได้ออกมา ถ้าจำเป็น เราก็คงจะต้องมีการจำแนกสื่อ อะไรที่ใช่หรือไม่ใช่สื่อมวลชน และผลักดันให้กฎหมายที่กระจัดกระจาย ให้ออกมาให้ทันใช้และให้เร็ว ไม่เช่นนั้นคนทำผิดก็ทำผิดซ้ำซาก
นี่คือสิ่งที่อยากจะขอให้กฎหมาย ดำเนินการได้ทันการณ์ ทันเทคโนโลยี ที่กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว”