
นางสุมาลี คล้ายสิงห์ อายุ 51 ปี เจ้าของสวนมาลี คลอง8 เลขที่ 13/2 หมู่ 1 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ได้ปลูกอินทผาลัม ในพื้นที่ 6 ไร่ ผลผลิตออกมาปีแรกแล้วขายเข้าตลาดไม่ได้ จึงต้องประชาสัมพันธ์ผ่านออนไลน์ ลูกค้าที่ชื่นชอบแวะเวียนเดินทางเข้ามาซื้อไปรับประทานจำนวนมาก
นางสุมาลี กล่าวว่า จากอดีตที่ผ่านมาประกอบอาชีพเป็นชาวเกษตรกรด้วยการพลิกพื้นนาจำนวน 6 ไร่มาทำสวนส้มสร้างรายได้และให้ผลผลิตอย่างงดงาม ผลส้มลูกใหญ่จนเป็นที่ชื่นชอบซึ่งหลายๆคนเริ่มรู้จักอำเภอหนองเสือมากขึ้นที่เป็นแหล่งปลูกส้มเป็นอันดับต้นๆของประเทศที่ส่งออกสู่ท้องตลาด ต่อมาเมื่อระยะเวลาผ่านไปเป็น 10 ปี ส้มเริ่มมีปัญหาผลของส้มเล็กลงและร่วงลงทุนไปในแต่ละปีรายได้มีคุ้ม และส่งผลให้ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งชาวเกษตรกรสวนส้มที่นี่ก็ไม่ทราบสาเหตุ ว่าจะเกิดจากโรงไฟฟ้าวังน้อยหรือเกิดจากสภาพดินเสื่อมโทรม ชาวเกษตรกรบางรายจึงทิ้งถิ่นไปแสวงหาพื้นที่ปลูกส้มทางภาคกลางตอนบนเช่นกำแพงเพชร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่เนื่องจากตนเองไม่มีทุนมากมายจึงต้องหันกลับมาทำอาชีพเดิมอีกครั้ง คือทำนาอยู่ 6 ไร่ ได้ข้าวเปลือก 3 เกวียนในแต่ละครั้ง แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องทนทำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยส่วนตัวแล้วชอบกินอินทผาลัม จึงศึกษาหาข้อมูลในยูทูปและได้รู้จักกับเกษตรกรเมืองกาญจนบุรีท่านหนึ่งที่ปลูกอินทผาลัม จึงสนใจขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการปลูกอินทผาลัมอย่างละเอียด โดยเกษตรกรท่านดังกล่าวบอกว่ามีโรงงานรับซื้อไม่อั้นเพื่อแปรรูปส่งออก ในตอนแรกๆก็คิดอยู่นานว่าจะได้ผลผลิตออกมาอย่างไร เพราะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี จึงจะได้ผลผลิต
ปลายปี 2559 ก็ตัดสินใจซื้อกล้าพันธุ์มาจากเกษตรกรที่เมืองกาญจนบุรีซึ่งเป็นสายพันธ์บาฮี มาปลูกในพื้นที่ 6 ไร่ประมาณ 200 ต้น ขั้นตอนของการดูแลปุ๋ยอินทรีย์ ขี้ไก่แกลบ ขี้วัว ขี้ค้างคาว สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสำรวจดูว่ามีศัตรูพืช เช่นด้วงที่จะกัดกินยอดดูลักษณะของลำต้นผิดปกติหรือไม่ หมั่นคอยตัดหญ้า ซึ่งที่สวนนี้จะไม่ได้ใช้สารเคมีในการฉีดพ่นฆ่าหญ้าหรือวัชพืชเลย เป็นการปลูกด้วยอินทรีย์
การให้น้ำเป็นระบบสปริงเกอร์ ช่วงต้นปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำรดน้ำต้นอินทผาลัม น้ำในคลองลดลงอย่างน่าใจหาย จึงพยายามใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดเดินรดน้ำที่ละต้น เนื่องจากอินทผาลัมเริ่มออกช่อเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งวิตกกังวลในเรื่องน้ำมากขึ้น จนกระทั่งให้ผลผลิตออกมาปีแรกเกินความคาดหมาย ก็ตกใจถึงจำนวนผลผลิตที่ออกมา
โรงงานที่ได้เคยประสานติดต่อไว้ว่าจะรับซื้อ หลังจากที่ได้รับผลกระทบการสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ได้หยุดและยกเลิกการสั่งซื้อผลผลิตของเราทันที แทบล้มทั้งยืนหาตลาดรองรับไม่ได้หน่วยงานภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจผลผลิตที่ออกมาประมาณ 1 ตันกว่า จึงต้องเดินออกหาตลาดเอง ไปติดต่อหลายที่แต่ก็ไม่มีที่ไหนรับซื้อ ทั้งตลาดไท และตลาดไอยรา หากมองจริงๆแล้วชีวิตของเกษตรกรไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หลายๆคนเขาคิดกัน
เมื่อผลผลิตออกมามากในเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมาก จึงอยากหาคนช่วยระบายของของสู่ท้องตลาด เบื้องต้นที่ทำได้คือ ลูกสาวได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊ก เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ก็มีคนทยอยแวะเวียนเข้ามาแวะชมดูสวนจากปากต่อปาก และซื้ออินทผาลัมสด กลับไปเป็นของฝาก และซื้อไปรับประทาน
ซึ่งที่สวนแม่มาลีจะแบ่งออกเป็น 2 ไซด์ คือไซด์ใหญ่กิโลกรัมละ 500 บาท ไซด์ที่เล็กลงมาหน่อยขายกิโลกรัมละ 400 บาท ผู้ที่สนใจชอบทานอินทผาลัมสดๆอยากอุดหนุนสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 098-394-8288
นายรัฐศักดิ์ แซ่เอียว อายุ 43 ปี ชาวจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ชื่นชอบอินทผาลัมอยู่แล้วเมื่อเห็นการประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊ก จึงได้พาครอบครัวเดินทางมาที่สวนคุณมาลี ซึ่งเมื่อชิมอินทผาลัมที่สวนนี้แล้วบอกได้เลยว่ารสชาติดีมาก เมื่อเรากัดแล้วจะได้รสชาดฝาด ๆ และเมื่อเคี้ยวแล้วจะได้รสหวานอร่อย ที่มาในวันนี้ก็สนใจที่จะปลูกบ้าง แต่ก็ต้องเขามาศึกษาวิธีการและขั้นตอนของการดูแลตั้งแต่เริ่มปลูกจนให้ผลผลิตและนำออกขายสู่ตลาดได้